การจัดความรู้องค์กร สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พี่ตุ่นนำสรุปจากคอร์สการอบรมเรื่อง “การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น” จัดโดยสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ปขมท. เนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับ ถ้าเราได้รับการทาบทามให้มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เราต้องทำการประเมินผู้ส่งผลงานอย่างไรบ้าง และในมุมกลับการอบรมก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ส่งผลงานเพื่อขอเลื่อนระดับ ต้องเตรียมผลงานวิชาการอย่างไรเพื่อที่จะให้ผู้ทรงคุณวุฒิให้ผ่าน

สิ่งที่ต้องรู้เพื่อการเตรียมตัวที่ดี
1. รู้จังหวะ เวลา ที่จะยื่นพิจารณาเลื่อนระดับ มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงระยะเวลาของผลงาน (ผลงานย้อนหลัง) สามารถขอดูข้อมูลกับกจ.
2. รู้ว่าตำแหน่งที่ต้องการเลื่อนระดับต้องส่งผลงานอะไร
– คู่มือปฏิบัติงาน
– งานวิเคราะห์/สังเคราะห์
– งานวิจัย
– นวัตกรรม
3. รู้จักเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น สรุปหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ดํารงตําแหน่งสูง สรุปหลักเกณฑ์การแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัย สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ดํารงตําแหน่งสูง (มข.ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกองทรัพยากรบุคคล https://hr.kku.ac.th/wphrdkku/?page_id=1506)

4. รู้จักองค์ประกอบในการจัดทำผลงาน
4.1 คู่มือปฏิบัติงาน ประกอบด้วย บทที่ 1 ที่มาและความสำคัญของการจัดทำคู่มือ วัตถุประสงค์ ขอบเขต นิยามศัพท์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ บทที่ 2 ข้อมูลโครงสร้างองค์กร และรายละเอียดของงานที่จัดทำคู่มือ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง บทที่ 3 เทคนิค แนวทางหรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน Flow Chart หน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องพร้อมลักษณะงานที่ทำงานร่วมกัน เกณฑ์และตัวชี้วัด บทที่ 4 ปัญหาที่พบ ข้อควรระวัง และแนวทางการแก้ไขปัญหา บทที่ 5 ข้อเสนอแนะและการประยุกต์ใช้ (อาจจะแบ่งระดับผู้ปฏิบัติการ และระดับองค์กร) ส่วนรายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม (ที่การอ้างอิงในเนื้อหาและท้ายเล่มต้องส่วนคล้องตรงกัน และเป็นรูปแบบการเขียน (references Style) แบบเดียวตลอดรายการ ภาคผนวก แบบฟอร์ม (ควรเป็นแบบฟอร์มที่กรอกรายละเอียดให้เห็นตัวอย่าง) ตัวอย่างหนังสือราชการ รูปภาพ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จำนวนบทหรือการเรียบเรียงเนื้อหาอาจแตกต่างไปตามรูปแบบที่กำหนด แต่เนื้อหาของคู่มือควรประกอบด้วยข้อมูลดังกล่าว

4.2 งานวิเคราะห์/สังเคราะห์ วิทยากรสรุปว่า งานวิเคราะห์คืองานวิจัยที่เป็นลักษณะสำรวจแล้วนำจ้อมูลมาหาความสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือการพัฒนา ประกอบด้วยบทที่ 1 ที่มาและความสำคัญ วัตถุประสงค์ ขอบเขต นิยามศัพท์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ บทที่ 2 วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ FlowChat ของงาน และงานวิชาการหรือวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการวิเคราะห์ บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิเคราะห์สังเคราะห์ ได้แก่ กลุ่มตัวอย่าง ระยะเวลาการรวบรวมข้อมูล วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล สถานที่ที่ดำเนินการ การพัฒนาเครื่องมือการเก็บข้อมูล สถิติที่ใช้ บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์/สังเคราะห์ เป็นการนำเสนอผลตัวเลขและการอ่านค่า บทที่ 5 สรุปและอภิปรายผล โดยสรุปผลภาพรวม ผลที่แตกต่างกันชัดเจน และอภิปรายผล โดยให้เหตุผลประกอบ ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาจากเอกสารในบทที่ 2 อาจจะรวมงานที่เรียกว่า R2R อยู่ในส่วนนี้ด้วย ส่วนรายการอ้างอิงและภาคผนวก

4.3 งานวิจัย เป็นการนำเสนอกระบวนการค้นพบที่พิสูจน์ได้ตามหลักทางวิชาการ ประกอบด้วย 5 บท แตกต่างจากงานวิเคราะห์/สังเคราะห์ ตรงที่มีคำถามการวิจัยหรือสมมุติฐานการวิจัย มีการพิสูจน์ทฤษฏีแนวคิด องค์ประกอบของงานวิจัยประกอบด้วย 1 บทนำ ประกอบด้วย 1) ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา 2) วัตถุประสงค์/ความมุ่งหมายในการวิจัย 3) ขอบเขตของการวิจัย 4) ข้อตกลงเบื้องต้น (ถ้ามี) 5) สมมติฐาน (ถ้ามี) 6) นิยามศัพท์เฉพาะ 7) ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย บทที่ 2 วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยงานวิชาการหรือวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำวิจัย เชื่อมโยงกับข้อมูลหรือเรื่องที่ทำวิจัย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการของหน่วยงานที่ทำวิจัย บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย 1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง/ แหล่งข้อมูล 2) เครื่องมือในการวิจัย 3) การเก็บรวบรวมข้อมูล 4) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ 5)กรอบแนวคิดในการวิจัย บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ให้นำเสนอตามลำดับของการหัวข้อวัตถุประสงค์ เลือกใช้สถิติที่ถูกต้อง บทที่ 5 บทสรุป ประกอบด้วย 1) สรุปผลการวิจัย 2) อภิปรายผล-โดยอ้างอิงกับข้อมูลในบทที่ 2 หรือความสอดคล้องของผลการวิจัยแต่ละส่วนที่พบในบทที่ 4 3) ข้อเสนอแนะ ส่วนรายการอ้างอิงและภาคผนวก
4.4 นวัตกรรม คือลักษณะงานการวิจัยและพัฒนา หรือการออกแบบกระบวนการที่ให้ผลลัพธ์เป็นสิ่งใหม่ องค์ประกอบเหมือนกับการเขียนงานวิจัย แต่บทที่ 5 จะเน้นการนำไปใช้ประโยชน์

5. รู้ว่าการตรวจประเมินให้คะแนนจากอะไร ปกติผู้ทรงคุณวุฒิจะทำหน้าที่พิจารณาคุณภาพของผลงาน โดยให้คะแนนและทำคะแนนรวมทั้งหมด แล้วมาดูว่าอยู่ในระดับใด (เช่น เกณฑ์ในข้อ 3) มีผลต่อการผ่านและไม่ผ่านในการขอเลื่อนตำแหน่ง

5.1 ตัวอย่างการพิจารณาคุณภาพของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (รวมงานวิเคราะห์/สังเคราะห์ และนวัตกรรม-ระดับชำนาญการพิเศษ) ซึ่งคะแนนในแต่ละข้ออาจจะไม่เท่ากัน แต่ผลรวมสามารถสะท้อนว่ามีคุณภาพหรือไม่โดยอาจจะเทียบกับคะแนนเต็มร้อย

หัวข้อ เป็นงานวิจัยที่ถูกต้องครบทุกกระบวนการวิจัย และเป็นประโยชน์ต่อส่วนงาน

ตัวเล่มวิจัยที่ยื่นขอต้องมีการจัดทำตัวเล่มหรือการเขียนที่มีองค์ประกอบทางการวิจัยครบถ้วน (ตามข้อ 5)  หากบทที่ 4 นำเสนอด้วยแผนภูมิให้ระวังการแสดงด้วยสี ที่หากพิมพ์ด้วยสีขาวดำจะไม่สามารถจำแนกข้อมูลได้ เป็นประโยชน์ต่อส่วนงาน ต้องมีรายละเอียดในบทที่ 2 ว่างานวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับงานที่สังกัดอย่างไร ในบทที่ 1 ส่วนของประโยชน์ให้ระบุชัดเจนว่าใครได้ประโยชน์อย่างไร  เช่น ผู้ใช้บริการได้….  สำนักหอสมุดได้….. ผู้ปฏิบัติงานได้….  มหาวิทยาลัยได้…..


หัวข้อ การเป็นงานวิจัยที่มีกระบวนการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัยถูกต้องเหมาะสม แสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือนำไปประยุกต์ใช้ได้ ทั้งนี้ต้องได้รับการเผยแพร่ในระดับชาติหรือนานาชาติ
เน้นกระบวนการวิจัย ตรวจสอบความถูกต้องของขอบเขต ควรมีกรอบแนวคิด มีการทดสอบเครื่องมือก่อนนำไปใช้ สถิติที่ใช้มีความถูกต้องอ่านค่าถูก การอ่านค่าตารางควรมีภาพรวมและจำแนกรายการ หากมีการเปรียบเทียบข้อมูลจะทำให้เห็นผลของการวิจัยได้ชัด มีรายการอ้างอิงที่ถูกต้องตามรูปแบบและครบทุกรายการ ไม่อ้างอิงข้อมูลที่เก่า ล้าสมัย มีภาคผนวก ความก้าวหน้าทางวิชาการ  ควรมีการจัดทำบทความเผยแพร่ในวารสารวิชาการตามเงื่อนไข หรือนำเสนอการประชุมวิชาการ  เอาต้นฉบับมาแนบส่งเพื่อแสดงผลงานประกอบ

หัวข้อ การเป็นผลงานที่แสดงถึงการวิเคราะห์และนำเสนอผลที่เป็นความรู้ใหม่ที่ลึกซึ้งกว่างานเดิมที่มีผู้เคยศึกษามาแล้ว

แสดงรายละเอียดในการอภิปรายผล โดยดูจากการเชื่อมโยงผลการวิจัยกับปัญหาการวิจัย หรือวัตถุประสงค์ หรือปัญหาของหน่วยงาน

หัวข้อ การเป็นประโยชน์ทางวิชาการอย่างกว้างขวางหรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแพร่หลาย

แสดงรายละเอียดในการอภิปรายผล โดยเชื่อมโยงกับประโยชน์ที่จะได้รับในบทที่ 1  หรือ การเผยแพร่บทความในวารสารวิชาการ/การนำเสนอผลงานในเวทีวิชาการ

6.2 ตัวอย่างการพิจารณาคุณภาพของคู่มือปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (รวมงานวิเคราะห์/สังเคราะห์ และนวัตกรรม-ระดับชำนาญการพิเศษ)

หัวข้อ ใช้ภาษาที่ชัดเจน เหมาะสม เข้าใจง่าย และถูกต้องตามหลักวิชาการ

ใช้ภาษาวิชาการ  ไม่ใช้คำเชื่อมประโยตที่ฟุ่มเฟือย ใช้ตัวเลขลำดับขั้นตอน คำภาษาอังกฤษที่นิยมใช้ทับศัพท์ทั้งนี้ให้ตรวจสอบการใช้คำจากพจนานุกรมต่างๆ การใช้เครื่องหมายและเว้นวรรคตอนให้ถูกต้อง หากมีภาพประกอบเรียงลำดับภาพให้ชัดเจน สอดคล้องกับหัวข้อ ไม่สะกดผิด มีการอ้างอิงแหล่งวิชาการที่น่าเชื่อถือ

หัวข้อ มีขั้นตอนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ ความรับผิดชอบหลักของตำแหน่ง มีโครงร่างและเนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์

แสดงด้วย Flow Chart ที่ถูกต้อง ต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบและปรับปรุง การอธิบายเพิ่มเติม ให้เรียงลำดับข้อให้สอดคล้องกับขั้นตอนของ Flow chart หากสามารถระบุระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนได้ให้ระบุด้วย ซึ่งจะแสดงให้เห็นมาตรฐานงาน

หัวข้อ แสดงการวิเคราะห์แยกแยะองค์ประกอบต่างๆ อย่างเป็นระบบ หรือสังเคราะห์รวบรวมเนื้อหาสาระที่เป็นองค์ประกอบต่างๆ เข้าด้วยกัน

แสดงความเชื่อมโยงข้องข้อมูลที่นำมาจัดทำ โดยอาจจัดทำแผนภูมิหรือ My Mapping ก่อนการพรรณนา  เช่น กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานและเกี่ยวข้องในระดับใด (ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติงาน) ลักษณะใด (ผู้รับผิดชอบหลัก ผู้รับผิดชอบรอง ผู้ติดตามตรวจสอบ คณะกรรมการ ที่ปรึกษา ความร่วมือเครือข่าย)

หัวข้อ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานในหน้าที่ ทั้งนี้ต้องได้รับการเผยแพร่ในหน่วยงานหรือส่วนงาน

มีตัวอย่างประกอบ แสดงรายละเอียดในการอภิปรายผล โดยเชื่อมโยงกับประโยชน์ที่จะได้รับในบทที่ 1  หรือ การเผยแพร่บทความในวารสารวิชาการ/การนำเสนอผลงานในเวทีวิชาการ หากเป็นคู่มือระบุรูปแบบการเผยแพร่ไว้ในคำนำ

หัวข้อ นำเสนอเนื้อหาสาระทางวิชาการที่ทันสมัย เกิดความรู้หรือวิธีการใหม่ๆ

มีการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ใช้ในการทำงานให้เป็นปัจจุบัน เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ Tips ให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน  เช่น การเชื่อมโยงการเก็บข้อมูลผู้ใช้กับ PDPA  การให้บริการที่เชื่อมการบริการออนไลน์กับ Libraries Transforming ของ American Library Association เป็นต้น

หัวข้อ มีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน แนวทางแก้ไขปัญหา และมีการสอดแทรกความเห็นเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนงาน

ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามคู่มือเล่มนี้(ในงานที่นำเสนอ) พร้อมวิธีแก้ไข หากมีรายละเอียดที่สามารถนำไปใช้ในงานได้ ให้ระบุในภาคผนวก เช่น เบอร์โทรฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง ข้อควรระวังเกี่ยวกับ PDPA ตัวอย่างการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ

หัวข้อ ระบุความคิดรวบยอดที่ชัดเจน

สรุปความเชื่อมโยงวัตถุประสงค์กับกระบวนการดำเนินงาน อาจแสดงในบทคัดย่อ หรือบทสรุปสำหรับผู้บริหาร

หัวข้อ เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ (ระดับชำนาญงาน, ชำนาญงานพิเศษ, ชำนาญการ เป็นประโยชน์ระดับองค์กร, ต้นสังกัด/ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป เป็นประโยชน์ระดับชาติ)

ระบุในบทที่ 1 ให้ชัดเจนว่า ใครได้อะไรจากคู่มือ สำนักหอสมุดได้….. ผู้ปฏิบัติงานได้….  มหาวิทยาลัยได้….. หากมีการนำเสนอในเวทีวิชาการในรูปแบบ KM, Best Practice ให้ใช้หนังสือเชิญหรือบทความยื่นประกอบการพิจารณาด้วย


นอกจากนี้ ยังมีจุดที่ช่วยสนับสนุนให้คู่มือน่าอ่านคือ การจัดรูปเล่ม ในการจัดทำผลงานวิชาการสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าเนื้อหา แม้จะไม่ใช่ส่วนที่เป็นจุดสำคัญในการให้คะแนนในการผ่านหรือไม่ผ่านในการเลื่อนละดับ แต่จะมีส่วนในการนำไปใช้งาน แลทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิเชื่อมั่นในผลงานที่นำเสนอว่ามีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นอย่าลืม 1)ระบุปีที่จัดทำ 2)เลขหน้า 3)เลขลำดับภาพหรือแผนภูมิประกอบ 4)แบบแผนการเขียนให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งเอกสาร 5) ข้อความชัดเจน สั้นกระชับ 6)การตั้งชื่องาน 7)พิมพ์ผิด 8)ระบุวัตถุประสงค์และรูปแบบการเผยแพร่ในคำนำ 9)ความชัดเจนของภาพประกอบ แผนภูมิ ตาราง หหากทำเป็นสีแล้วมาพิมพ์ขาว-ดำ 10)เป็นผู้มีจริยธรรม

โดยส่วนตัวแล้วพี่ตุ่นมีข้อคิดในการทำผลงานในการทำผลงานวิชาการว่า จะต้องมีสิ่งที่ดีขึ้นจากเดิม
วิจัย—ดูระดับที่ขอว่าต้องการผลงานแค่ไหน ไม่ต้องทำโจทย์การวิจัยหลายข้อ ขอให้สามารถตอบโจทย์การวิจัยที่เป็นปัญหาของหน่วยงานได้ แค่ 1 ประเด็น แต่เขียนให้สมบูรณ์ ถูกต้องตามกระบวนการวิจัย นำเสนอผลงานใหชัดเจน โดยเฉพาะข้อเสนอแนะ และมีการเผยแพร่
งานวิเคราะห์—ผลการวิเคราะห์ต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานได้จริง ไม่ใช้ได้ผลมาแต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ตามสำนวนที่ว่า “ทำไปเพื่อ….”
คู่มือ—เป็นงานที่ไม่มีการทำมาก่อน อาจจะเป็นงานปรับปรุงได้ ใช้งานได้เป็นมาตรฐานงานหรือเป็นแนวทางการทำงานที่ใช้ได้จริง
พี่ตุ่นถอดบทเรียนจากการอบรมและประสบการณ์ที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ (แบบครูพักลักจำ) รวมถึงประสบการณ์ในการเป็นอดีตบรรณาธิการวารสารอินฟอร์เมชั่น คิดว่าบทความนี้น่าจะทำให้ผู้ทำการเสนอผลงานเพื่อขอเลื่อนละดับให้สูงขึ้นได้ใช้ตรวจสอบการจัดทำผลงานของตัวเอง ช่วยให้ผลงานมีความสมบูรณ์มากที่สุด

สำหรับตัวอย่างที่ยกมาให้ดูนั้น ไม่ใช่เกณฑ์ที่เผยแพร่ของสถาบันใด เป็นประสบการณ์ที่พี่ตุ่นเคยเจอเลยยกมาเพื่ออธิบายว่า เกณฑ์แต่ละข้อนั้นต้องมีอะไรประกอบ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้งานได้ และการอบรมครั้งนี้ไม่ใช่มีเฉพาะพี่ตุ่นนะคะที่ไปอบรม ยังมีพี่ๆ บรรณารักษ์อีก 5 คน ” นำทีมโดย ดร.จันทรรัตน์ มีพี่ยุภาพร อ้อย-จรูญลักษณ์ น้องยุวดี น้องยศยาดา และน้องปุ๊ก-กนกวรรณ เข้าร่วมอบรมด้วยกัน พี่ตุ่นเชื่อว่าทุกคนคงยินดีให้คำปรึกษากับน้องๆในการจัดทำผลงานค่ะ

By Siriporn Tiwasing

บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์มาเกือบ 30 ปี (บรรจุปี 2537)